Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เสียงเล็กๆที่เป็นแรงผลักดันให้ครูก้าวต่อไป

         กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพของคุณหรืออะไรก็ตามที่คุณกำลังทำอยู่ กำลังใจจากคนรอบข้างล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้คุณทำสิ่งที่ดีๆนั้นต่อไป การเป็นอาจารย์หรือครู ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยกำลังใจ นอกจากกำลังใจที่สำคัญจากครอบครัวแล้วนั้น กำลังใจที่จะช่วยทำให้ครูมีแรงที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นมาโดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการสอนหนังสือ กำลังใจจากลูกศิษย์เป็นสิ่งที่สำคัญมากและเป็นแรงผลักดันกระตุ้นให้ครูสร้างสรรค์สิ่งดีๆต่อไป กำลังใจที่ผู้จะพูดถึงคือการที่สอนอะไรให้กับเด็กไปสักอย่าง แล้วเค้าได้นำไปปฎิบัติในชีวิตประจำวัน  เรื่องมันมีอยู่ว่า

       ผมเองเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ผมเองก็ได้รับมอบหมายให้สอนอยู่หลายวิชา แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายวิชาที่ตนเองถนัด ในสายของวิชาพลศึกษา แต่พอมาถึงเมื่อเทอมที่แล้ว ผมถูกจัดให้สอนวิชาที่เป็น รายวิชาทั่วไป รายวิชานั้นคือ การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม เมื่อทราบดังนั้น เฮ้ย มันคือรายวิชาอะไรว่ะ แล้วจะสอนเด็กยังไงดี เวลาในการสอนก็น้อย 2 ชั่วโมง แถมที่แย่กว่านั้นจะต้องไปสอนที่ มหาลัยอีกแห่งหนึ่ง (มหาวิทยาลัยมี 2 แห่ง) ที่สำคัญคือ ไม่มีสนามกีฬาให้ออกกำลังกายซะด้วย มีแต่ตึกและที่โล่งๆ มิหน่ำซ้ำ แดดร้อนสุดๆ ต้นไม้ใหญ่ก็ไม่มี เอายังไงล่ะครับที่นี้ อาจารย์ ผมก็ต้องคิดต่อไปว่าแล้วจะทำอย่างไร เด็กถึงจะได้ออกกำลังกาย โดยที่เราอาจารย์ผู้สอนไม่สามารถเช็คได้เลย ว่าเด็กส่วนใหญ่ได้ออกกำลังกาย ผมก็เลยต้องออกแบบการสอนใหม่หลังจากที่ได้พบเจอเด็กในครั้งแรกแล้ว ผมเป็นอาจารย์ที่ไม่มีแบบแผนในการสอนเด็ก ผมจะปรับเปลี่ยนไปตามผู้เรียนเสมอ โดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก จริงๆเค้าก็มีแผนการสอนให้นะครับ แต่ผมว่าแผนที่เค้าใช้ต่อๆกันมา มันใช้ไม่ได้กับเด็กทุกกลุ่มหรอกครับ

      สำหรับเด็กกลุ่มนี้ นักศึกษาสาขาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 2 ประมาณ 30 คน ถ้าผมจำไม่ผิด พื้นฐานทางกายจากที่พบเจอในชั่วโมงแรกแล้ว รู้สึกว่ามีความหลากหลายมาก มันก็เป็นการบ้านหรือโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร แต่สิ่งที่ผมให้เด็กทุกคนทำคือ สมุดบันทึกการออกกำลังกาย โดยใน 1 สัปดาห์จะต้องมีการออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุด 3 ครั้ง แต่ละครั้งควรเกิน 20 นาทีขึ้นไป มันก็คือหลักการออกกำลังกายทั่วไป จดบันทึกทั้งเทอม แต่ในการออกกำลังกายทุกครั้งจะต้องมีการบันทึกข้อมูล เช่น ออกกำลังกายแบบใด ออกกำลังกายกี่นาที จับชีพจรขณะพักและขณะออกกำลังกาย และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ รูปภาพการออกกำลังกายเพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าได้ออกกำลังกายจริงๆ ถามว่ามีเด็กที่โกงไหม เขียนข้อมูลแต่ไม่ทำจริง ก็มีครับ แต่บางทีผมก็ไม่ค่อยสนใจนะ มีงานมาส่งก็ถือว่าโอเคแล้ว ก่อนที่จะมอบหมายงานให้กับเด็กผมได้บอกจุดประสงค์ของผมไปแล้วคือ
            "ผมต้องการให้ทุกคนรักการออกกำลังกายไปตลอดชีวิต"
    สมุดบันทึกการออกกำลังกาย ก็ถูกส่งมาที่ผมครบทุกคนเมื่อถึงท้ายเทอม ผมก็มีหน้าที่ให้คะแนนตามสภาพ โดยดูจากสมุดบันทึก มันก็พิสูจน์อะไรไม่ได้มากหรอกครับ เพราะดูจากตัวหนังสือ จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ วิชานี้ก็จบไป
      แต่เมื่อมาถึงงานเลี้ยงปีใหม่จัดโดยคณะ ระหว่างที่ผมกำลังรับประทานอาหารกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ผมก็ดันมองไปเห็นนักศึกษา 1 คนที่เป็นตากล้องของงาน  ผมก็จำได้ว่าเป็นคนเนี้ยเคยเรียนกับผมแต่ก็ไม่ได้อะไร แต่ก็นั้นล่ะครับ เมื่อเด็กคนดังกล่าวเดินผ่านมาทางโต๊ะผม เค้าก็ "สวัสดีครับอาจารย์" "อาจารย์จำผมได้ไหมครับ" ผมก็เลยตอบไปว่า "จำได้สิ คุณเรียนกับผมเมื่อเทอมที่แล้ว" เด็กก็พูดกับผมว่า "อาจารย์ครับทุกวันนี้ผมยังออกกำลังกายทุกวันอยู่เลยนะครับ เป็นเพราะวิชาที่ได้เรียนกับอาจารย์อ่ะครับ เป็นแรงบันดาลใจให้ผมรักการออกกำลังกาย ถึงกระทั่งวันไหนที่ไม่ได้ออกกำลังกายนะครับ รู้สึกแปลกๆ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง" ผมก็ตอบกลับเค้าไปว่า "ก็ดีแล้วล่ะ มันได้กับตัวเองทั้งนั้นการออกกำลังกายอ่ะ" เค้าก็"ขอบคุณครับอาจารย์" แล้วก็ไปทำหน้าที่ตากล้องต่อในงาน
       ถึงแม้มันเป็นเพียง 1 คนที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ผมได้ตั้งไว้ แต่อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการทุ่มเทกับการสอนไม่เสียเปล่า อย่างน้อยก็ยังมี 1 คนที่ผมเจอและเค้าได้นำไปปรับใช้ต่อในชีวิตประจำวัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าคงมีอีกหลายคนที่เป็นไปตามเป้าหมายของผม เพียงแค่ผมไม่ได้เจอเค้า และเค้าไม่ได้มาบอกผมก็เท่านั้นเอง

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือที่มีต่อความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (THE EFFECT OF COOPERATIVE LEARNING IN PHYSICAL EDUCATION LEARNING MANAGEMENT UPON THE SPORTSMANSHIP OF THE 6th PRIMARY SCHOOL STUDENTS )

ภูมิหลัง
         ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาความวุ่นวายเกิดภายในประเทศอย่างมาก ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสังคม สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็มาจากประชาชนบางกลุ่มยังขาดการเคารพในกฎกติกาของบ้านเมืองไม่เคารพในกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา รวมไปถึงการที่ประชาชนขาดความมีน้ำใจนักกีฬา เห็นได้จากปัญหาความรุนแรง ความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ
การที่จะทำให้นักเรียนเกิดความมีน้ำใจนักกีฬา ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเลยคือ การจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความสามัคคีกันระหว่างผู้เรียนในกลุ่ม  ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มไม่ใหญ่เกินไปนัก และทำให้ผู้เรียนเก่งได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้ที่เรียนอ่อน จึงเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้านความมีน้ำใจ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น(สุคนธ์ สินทพานนท์; และคณะ.  2545: 46)
          จากปัญหาที่เกิดขึ้นสังคมปัจจุบันซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดความมีน้ำใจนักกีฬา ขาดการอภัยซึ่งกันและกัน และจากจุดมุ่งหมายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา โดยเฉพาะในสาระที่ 3 ที่ต้องการพัฒนาจริยธรรมด้านความมีน้ำใจนักกีฬา ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่มีผลต่อความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ความมุ่งหมายของการวิจัย
1.  เพื่อศึกษาผลของการจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาแบบร่วมมือที่ต่อความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2.  เพื่อเปรียบเทียบผลของการจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาแบบร่วมมือที่มีต่อความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
ความสำคัญของการวิจัย
        ผลของการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้จะทำให้ทราบถึงความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือซึ่งเป็นแนวทางให้กับครูผู้สอนในวิชาพลศึกษาได้นำไปพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนและเป็นแนวทางใน การวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบเขตของการวิจัย
           กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนวิชาพลศึกษาในปีการศึกษา 2556 ภาคเรียนที่ 1 โรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1
จำนวน 60 คน  การเลือกโรงเรียนที่ทำการทดลอง ผู้วิจัยเลือกโรงเรียนสิริวุฒิวิทยา ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection)

ตัวแปรที่ศึกษา
         ตัวแปรอิสระ (Independent  Variable) คือ
                  การจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ(Cooperative  Learning)
                  การจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบปกติ
       ตัวแปรตาม (Dependent Variable) ได้แก่   ความมีน้ำใจนักกีฬา

นิยามศัพท์เฉพาะ
          1.การจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ (Cooperative  Learning)หมายถึง การจัดกาเรียนรู้ในวิชาพลศึกษาที่จัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ ตามเป้าหมายที่กำหนดเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาทั้ง 5 ขั้นตอนการสอน คือ 1) ขั้นเตรียม 2) ขั้นพัฒนาสมรรถภาพทางกาย
3) ขั้นอธิบายสาธิตและฝึกปฏิบัติ 4) ขั้นนาไปใช้ 5) ขั้นสรุป
                          2.การจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบปกติ วิธีการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียม 2) ขั้นพัฒนาสมรรถภาพทางกาย 3) ขั้นอธิบายสาธิตและฝึกปฏิบัติ 4) ขั้นนำไปใช้  5) ขั้นสรุป
                          3.ความมีน้ำใจนักกีฬา หมายถึง ลักษณะต่างๆ ที่มีในตัวของบุคคลเป็นมีคุณธรรมทางด้าน จิตใจและสามารถแสดงออกตามสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีคุณลักษณะที่สำคัญ 10 ประการ ดังนี้
                           1. ความยุติธรรม
          2. ความมีวินัย
          3. ความมุ่งมั่น
          4. ความรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย
          5. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
          6. ความสามัคคี
          7. ความอดทน อดกลั้น
          8. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
          9. ความมีมารยาท
                           10. ความซื่อสัตย์
        
สมมุติฐานในการวิจัย
       1. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีน้ำใจนักกีฬา หลังการทดลองของกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือและนักเรียนกลุ่ม
ควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบปกติมีความแตกต่างกัน
       2. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีน้ำใจนักกีฬา ของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือหลังการทดลองแตกต่างกับก่อนการทดลอง

เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2551) ได้จัดทำสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และอธิบายตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไว้ดังนี้ พลศึกษา มุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว การออกกาลังกาย การเล่นเกมและกีฬา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยรวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมทั้งสมรรถภาพเพื่อสุขภาพและกีฬาสาระที่เป็นกรอบเนื้อหาหรือขอบข่ายองค์ความรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาประกอบด้วย
          1. การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์
          2. ชีวิตและครอบครัว
          3. การเคลื่อนไหว การออกกาลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและกีฬาสากล ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ การเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬา ทั้งประเภทบุคคล และประเภททีมอย่างหลากหลายทั้งไทยและสากล การปฏิบัติกฎ กติกา ระเบียบ และข้อตกลงในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬา และความมีน้ำใจ
         4. การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพ และการป้องกันโรค
         5. ความปลอดภัยในชีวิต
      หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ใน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษามี 5 สาระ 6 มาตรฐาน ดังนี้
         สาระที่ 1 การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์
               มาตรฐาน พ 1.1 เข้าใจธรรมชาติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์
         สาระที่ 2 ชีวิตและครอบครัว
              มาตรฐาน พ 2.1 เข้าใจและเห็นคุณค่าตนเอง ครอบครัว เพศศึกษาและมีทักษะในการดำเนินชีวิต
         สาระที่ 3 การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและกีฬาสากล
              มาตรฐาน พ 3.1 เข้าใจ มีทักษะในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกาย การเล่นเกม และกีฬามาตรฐาน
              มาตรฐาน พ 3.2 รักการออกกาลังกาย การเล่นเกม และการเล่นกีฬา ปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย เคารพสิทธิ กฎ กติกา มีน้ำใจนักกีฬา มีจิตวิญญาณในการแข่งขัน และชื่นชมในสุนทรียภาพของการกีฬา
          สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
             มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
          สาระที่ 5 ความปลอดภัยในชีวิต
               มาตรฐาน พ 5.1 ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุการใช้ยาสารเสพติด และความรุนแรง
          กล่าวโดยสรุปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ในสาระที่ 3 การเคลื่อนไหว การออกกาลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทย และกีฬาสากล ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ โดยผ่านการเล่นกีฬาไทย กีฬาสากล ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม อย่างน้อย 1 ชนิด ผู้เรียนสามารถบอกถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สมรรถภาพทางกาย และการสร้างเสริมบุคลิก สามารถปฏิบัติตามกฎ กติกา ระเบียบ และได้รับการส่งเสริมความมีน้ำใจนักกีฬาและชื่นชมสุนทรียภาพของการกีฬา

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
         ทิศนา แขมมณี (2551 : 98 -105) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นวิธีการที่เหมาะสมวิธีการหนึ่งตามแนวคิดของ Constructivism ที่ใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ กล่าวคือขณะที่นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกันในกลุ่มจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกของกลุ่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแต่ละคนจะมีวัยใกล้เคียงกันทำให้สามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดีซึ่งจะแตกต่างจากการสื่อสารกับครู การเรียนแบบร่วมมือร่วมใจกันจึงเริ่มต้นจากการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มมีสมาชิกในจำนวนที่พอเหมาะ (3-4 คน)
          เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมใจ ที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดคาบเรียนหรือตั้งแต่ 1 คาบเรียนขึ้นไป เทคนิคเหล่านี้มีลักษณะการจัดกิจกรรมแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ เทคนิคที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้
        1. เทคนิคการแบ่งกลุ่มแบบกลุ่มสัมฤทธิ์ (Student Teams Achievement Divisions หรือ STAD) โดยจัดสมาชิกในกลุ่ม 4 คน ระดับสติปัญญาต่างกัน เช่น เก่ง 1 คน ปานกลาง 2 คน และอ่อน 1 คน ผู้สอนกำหนดบทเรียนและการทำงานของกลุ่ม
        2. เทคนิคการแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม (Teams – Game Tournament หรือ TGT) เป็นเทคนิคการจัดกลุ่มเช่นเดียวกับ STAD แต่ไม่มีการสอบทุกสัปดาห์ แต่ละทีมที่มีความสามารถเท่ากันจะแข่งขันตอบปัญหา มีการจัดกลุ่มใหม่ทุกสัปดาห์โดยพิจารณาจากความสามารถของแต่ละบุคคล คะแนนของกลุ่มจะได้จากคะแนนของสมาชิกที่เข้าแข่งขันร่วมกับกลุ่มอื่นๆ รวมกัน แล้วจัดให้มีการให้รางวัลกับกลุ่มที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
         3. เทคนิคการจัดกลุ่มแบบช่วยรายบุคคล (Teams Assisted Individualization หรือ TAI) จัดให้สมาชิกของกลุ่ม 4 คนมีระดับความรู้ต่างกัน ใช้สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 3-6 ผู้สอนเรียกผู้เรียนที่มีความรู้ระดับเดียวกันของแต่ละกลุ่มมาสอน ความยากง่ายของเนื้อหาวิชาที่สอนแตกต่างกัน ผู้เรียนกลับไปยังกลุ่มของตนและต่างคนต่างทำงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกคนสอบข้อสอบโดยไม่มีการช่วยเหลือกัน มีการให้รางวัลทีมที่ทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม
        4. เทคนิคการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Together) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-6 ทำการสอนทั้งชั้น ผู้เรียนแต่ละคนทำงานตามที่ผู้สอนมอบหมาย คะแนนของแต่ละกลุ่พิจารณาจากผลงานของกลุ่ม
        5. เทคนิคการตรวจสอบเป็นกลุ่ม (Group Investigation) สมาชิกในกลุ่มมี 2-6 คน แต่ละกลุ่มเลือกหัวเรื่องที่ต้องการศึกษาค้นคว้า สมาชิกในกลุ่มแบ่งงานกันทั้งกลุ่ม มีการวางแผน การดำเนินงานตามแผน การวิเคราะห์และสังเคราะห์งานที่ทำ การนำเสนอผลงาน หรือรายงานต่อหน้าชั้น การให้รางวัลหรือคะแนนให้เป็นกลุ่ม
        6. เทคนิคจิกซอ (Jigsaw) เป็นเทคนิคที่ใช้กับบทเรียนที่หัวข้อที่เรียน แบ่งเป็นหัวข้อย่อยได้ เช่น ประเภทของมลพิษ สามารถแบ่งเป็น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง มลพิษทางน้ำ มลพิษของดิน เป็นต้น
        7. เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมกลุ่ม (Co-op Co-op) ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายหัวข้อที่จะศึกษาแบ่งหัวข้อใหญ่เป็นหัวข้อย่อย แล้วจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มตามความสามารถที่แตกต่างกัน กลุ่มเลือกหัวข้อที่จะศึกษาตามความสนใจของกลุ่ม กลุ่มแบ่งหัวข้อย่อยเป็นหัวข้อเล็ก เพื่อผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มเลือกไปศึกษาและมีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนภายในกลุ่มแล้ว

การสุ่มห้องเรียนเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

             การสุ่มห้องเรียนเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ผู้วิจัยทำการสุ่มห้องเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับฉลากเพื่อกำหนดห้องเรียนกลุ่มตัวอย่าง เข้าเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ได้ห้องประถมศึกษาปีที่  6/1 จำนวน 30 คน เป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ และได้ห้องประถมศึกษาปีที่ 6/2 จำนวน 30 คน เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ

         การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลองและเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
         เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) จำนวน 10 แผน
         การสร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูล คือ การสร้างแบบวัดความมีน้ำใจนักกีฬา สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านความมีน้ำใจนักกีฬา แบบวัดฉบับนี้ประกอบด้วยข้อคำถาม 60 ข้อ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบพฤติกรรมด้านความมีน้ำใจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ข้อมูลส่วนตัวและพฤติกรรมความมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งการตอบในครั้งนี้ไม่มีการตัดสินถูกผิดหรือมีผลกับตัวนักเรียน ขอให้นักเรียนตอบตรงกับพฤติกรรมที่นักเรียนปฏิบัติมากที่สุด

การเก็บข้อมูล
          1. ทำการทดสอบความมีน้ำใจนักกีฬา ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ก่อนการทดลองในสัปดาห์แรก
          2. นำผลการทดสอบก่อนการทดลองมาหาความแตกต่างของค่าเฉลี่ย เพื่อทดสอบว่านักเรียนกลุ่มทดลองและนักเรียนกลุ่มควบคุม มีค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีน้ำใจนักกีฬาแตกต่างกันหรือไม่
          3. จัดกลุ่มให้กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยที่เท่ากัน
          4. การดำเนินการทดลอง กลุ่มทดลองผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่สร้างขึ้นจำนวน 10 แผนการจัดการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้สัปดาห์ละ 1 คาบเรียน คาบเรียนละ 60นาที รวม 10 สัปดาห์
          5. กลุ่มควบคุมดำเนินการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบปกติโดยอาจารย์ประจำของโรงเรียน สัปดาห์ละ 1 คาบเรียน รวม 10 สัปดาห์
          6. วัดความมีน้ำใจนักกีฬาในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 5
          7. หลังสิ้นสุดการจัดการเรียนรู้พลศึกษาแบบร่วมมือหลังสัปดาห์ที่ 10 ผู้วิจัยดำเนินการวัดความมีน้ำใจนักกีฬา ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทดสอบโดยใช้แบบวัดความมีน้ำใจนักกีฬา ฉบับเดียวกันกับแบบวัดก่อนเรียน

การจัดกระทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
         1. วิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของคะแนนแบบวัดความมีน้ำใจนักกีฬาที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
         2. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
                2.1 คำนวณค่าเฉลี่ย ( Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน( SD ) ของความมีน้ำใจนักกีฬาโดยใช้เครื่อง
คอมพิวเตอร์ โปรแกรม SPSS
                2.2 ทดสอบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยความมีน้ำใจนักกีฬาระหว่างนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่ม
ควบคุม ด้วยการทดสอบค่าที (t-test) โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรม SPSS
                    




































วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

" ครูมาแล้วๆ " กับวิชาพละ

ครูมาแล้วๆ    เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในสมัยเราเรียนระดับประถม เรามักจะส่งเสียงบอกหรือตะโกนกันในห้องที่แสนสนุกสนาน ขณะที่ครูไม่อยู่ 
            เมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งมองเห็นว่า ครูกำลังเดินมาที่ห้อง เราก็   ต่างตะโกนบอกต่อๆกันว่า "ครูมาแล้วๆ " หลังจากที่พวกเราได้ยินเสียงเพื่อนบอกอย่างนั้น ทุกคนที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็นั่งเล่นบนโต๊ะ บ้างก็วิ่งเล่นไล่จับกันในห้อง จำเป็นต้องกับไปที่โต๊ะนั่งของตนเอง ทันใดที่ครูก้าวเท้าเข้าสู่ห้อง ห้องเรียนที่เสียงดัง เด็กที่วิ่งเล่นกัน ต่างก็ต้องสงบเงียบไปตามระเบียบ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขั้น สถานการณ์ดังกล่าวผมเชื่อได้เลยว่า เราที่ได้เรียนในโรงเรียนทุกคนย่อม เคยผ่านเรื่องเล่าที่แสนจะสนุกดังกล่าวมาแล้ว


       คำท้อปฮิต ติดปากและใช้กับอยู่บ่อยๆ ในหมู่เด็กๆทุกยุคทุกสมัย ก็คือคำว่า "ครูมาแล้วๆ "
       แต่ใครจะเชื่อเล่าว่า คำว่า "ครูมาแล้วๆ " จะสามารถทำให้ครูพลศึกษาตัวเล็กๆ อย่างผม นั้น
น้ำตาซึม  และเก็บไปคิดอยู่หลายวันพอสมควร
               เหตุการณ์ที่จะเล่าดังต่อไปนี้  เกิดในวันอังคาร  (ส่วนวันที่เท่าไรนั้นผมจำไม่ได้) ในวันนั้นเอง เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกในยามเช้าดังขึ้น ผมตื่นขึ้นมา   มีอาการมึนหัวมากและเจ็บคอมากคิดแล้วคงจะไปทำงานไม่ไหวแน่ๆ 
              จึงตัดสินใจโทรไปแจ้งกับทางโรงเรียนว่าขอลาป่วย 1 วัน ซึ่งเป็นความโชคดีที่ว่า โดยปกติผมเองในวันอังคารจะมีสอนวิชาว่ายน้ำ ของเด็กระดับปฐมวัย คือ ชั้นอนุบาล 2 ในสัปดาห์นี้เนี้ย ทางโรงเรียนให้งดสอนวิชาว่ายน้ำ เนื่องจากป้องกันนักเรียนเป็นโรคมือ เท้า ปาก เพราะทางกระทรวงประกาศมา
     ผมจึงได้นอนพักผ่อนและไม่ต้องเป็นห่วงงานที่โรงเรียนมากนัก เพราะถ้าขาดครู
     โดยปกติ ทางโรงเรียนก็จะต้องจัดครูคนอื่นเข้าไปสอนแทน เมื่อผมนอนไปได้สักพัก อาการของผมก็ดีขึ้น ด้วยความที่งานที่โรงเรียนยังมีงานค้างอีกมากพอสมควร และช่วงบ่าย 
ผมยังมีสอนอีก 2 คาบ  2 คาบที่ว่านี้มีวิชาพลศึกษา สอนเด็กป.2 และวิชาวิทยาศาสตร์ สอนป.3 จึงตัดสินใจที่จะไปทำงานดีกว่า
     โดยขับเจ้า 2 ล้อพาหนะคู่ใจ ฮอนด้า เวฟ เพื่อไปโรงเรียนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ไปให้ทันสอนคาบวิชาพลศึกษา


       เมื่อผมไปถึงโรงเรียนก็รู้สึกโล่งอกเป็นอย่างมาก มาถึงก่อนเวลาสอนเสียอีกเมื่อไปถึง ก็ตรงกับช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันพอดี
          การรับประทานอาหารของเด็กนักเรียน เด็กจะต้องเดินไปรับถาดอาหารและไปต่อแถวเพื่อรับอาหาร ระหว่างทางที่ผมจะเดินขึ้นห้องเพื่อเอากระเป๋าและสำภาระต่างๆ ไปวางบนห้อง ก็ต้องเดินผ่านไปบริเวณที่เด็กๆ ตั้งแถว 
          ระหว่างที่ผมกำลังเดินไปนั้น เด็กป.2 ก็ได้เดินลงมาจากอาคารเพื่อจะลงมาทานอาหาร สิ่งที่ทำให้ผมต้องหยุดเดินโดยทันที่นั้นก็คือ เด็กป.2 เมื่อเห็นผม เค้าตะโกนบอกกับเพื่อนๆว่า

          "ครูมาแล้วๆ ดีใจจังเลย พวกเราได้เรียนพละแล้ว" คนที่ได้ยินต่างก็ ร้องเย่ กันเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง เสียงนั้นมันทำให้ผมน้ำตาแทบไหลออกมาก ความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย ความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ความรู้สึกที่ว่ามันทำให้น้ำตาจะไหลออกมา ด้วยความรักจากหัวใจดวงน้อยๆของเด็กๆ ที่ตั้งตารอคอยในการเรียนวิชาพลศึกษา
           แต่ครูพลศึกษาอย่างเราต้องห้ามร้องไห้ให้เด็กนักเรียนเห็น ผมจึงรีบเดินเอากระเป๋าขึ้นไปเก็บบนห้อง จากนั้นนั่งอยู่บนเก้าอี้อยู่ครู่ใหญ่ 

         สิ่งที่ผมคิดคือ "การเป็นครูพลศึกษาหรือครูวิชาใดก็ตาม การที่ครูขาดสอนหรือติดธุระไม่สามารถมาสอนได้ จะทำให้นักเรียนที่อยากเรียน รอคอยที่จะได้เรียนวิชาที่ตนเองชอบเรียนกับครูที่ตนเองรัก โดยเฉพาะวิชาพลศึกษาที่มีเพียง 1 คาบต่อหนึ่งสัปดาห์ ในระดับประถมศึกษา เค้าเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไร และเสียใจขนาดไหน เมื่อเค้าไม่ได้เรียนในวิชาที่รอคอยและชื่นชอบ " 

    เพียงเพราะครูคิดถึงแต่เรื่องของตนเองเป็นหลัก จึงทำให้ลืมมองไปว่า เด็กยังรอคอยคุณครูอยู่นะ
      

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมันร่างกายกับสุขสมรรถนะ

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมันร่างกายกับสุขสมรรถนะของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 
ผู้แต่ง นางสาวนัยนา  จันทร์ฉลอง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 
1.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมันร่างกายกับสุขสมรรถนะของนักเรียนชายและหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 
2. เพื่อพยากรณ์เปอร์เซ็นต์ไขมันของนักเรียนชายและหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยการวัดไขมันใต้ผิวหนัง 6 จุดและวัดส่วนรอบร่างกาย 6 แห่ง 
3.เพื่อเปรียบเทียบสุขสมรรถนะของนักเรียนชายและหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันแตกต่างกัน

สมมติฐานของการวิจัย
1.  เปอร์เซ็นไขมันร่างกาย มีความสัมพันธ์กับ สุขสมรรถนะของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 
2.  นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีเปอร์เซ็นไขมันต่ำ และปกติมีสุขสมรรถนะดีกว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีเปอร์เซ็นไขมันสูงกว่าปกติ

ขอบเขตการวิจัย
                กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีอายุ 13-15 เขตกรุงเทพมหานครและ 12 เขตการศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จำนวน 800 คนที่สุ่มมาจากประชากรจำนวน  1,549,810 คน
แนวคิด ทฤษฎี
1.  การพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 13 – 15 ปี 
2.  การศึกษาเกี่ยวกับไขมันในร่างกาย 
3.  ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดโรคอ้วน และผลความอ้วนที่มีต่อสุขภาพ  
     ทางกาย จิตใจอารมณ์และสังคม 
4.  วิธีกำหนดหาส่วนประกอบของร่างกาย 
5.  เทคนิคการวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง การวัดส่วนรอบวง 
     ของร่างกาย


เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 

1.  เครื่องชั่งน้ำหนักใต้น้ำเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก 
     ละเอียด 1000 ส่วน ใน   1 ก.ก. 
2.  ถังเหล็กทรงสี่เหลี่ยมบุด้วยพลาสติกทรงสี่
     เหลี่ยม สูง 1.30 เมตร กว้าง 1.50 เมตร  
     ยาว  0.90 เมตรใช้เป็นถังบรรจุน้ำเพื่อการชั่งน้ำหนักใต้น้ำ 
3.  ปรอทวัดอุณหภูมิของน้ำขณะที่ทำการชั่งใต้น้ำ 
4.  เลนจ์ คาลิเปอร์ วัดไขมันใต้ผิวหนังของที่มีความกด  
     10 กรัมต่อตารางมิลลิเมตร 
5.  เครื่องวัดความจุปอดชนิดเปียกเพื่อหาอากาศที่ตกค้างภายใน
     ร่างกาย ขณะที่ชั่งน้ำหนักใต้น้ำ 
6. แบบบันทึกข้อมูลผู้รับการทดสอบ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้
    ทดสอบเช่น การออกกำลังกาย ชนิดของกีฬาที่ออกกำลังกายเป็น  ประจำ ความบ่อยในการออกกำลังกาย การเดินทางมายังสถานศึกษา ระยะทางจากบ้านถึงสถานศึกษา และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลทางด้านการทดสอบ อันได้แก่ ชีพจรขณะพัก ความดันโลหิต น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ วันเดือนปีที่ทำการทดสอบ น้ำหนักที่ชั่งได้ทั้งในน้ำและบนบก ไขมันที่วัดได้ใต้ผิวหนัง ส่วนรอบร่างกาย ความจุปอด อากาศที่ค้างอยู่ในร่างกายหลังเป่าออกเต็มทีจากเครื่องเป่าปอด 
7.  เครื่องชั่งน้ำหนักในอากาศที่สามารถบอกน้ำหนักละเอียดได้ถึง   
     1/1000 
8.  เครื่องวัดส่วนสูงยี่ห้อ Detecto 
Gulick tape
9.  เครื่องมือวัดรอบของร่างกาย ชนิด
เทป (Gulick tape) 
10. สำลี 
11. แอลกฮอล์   70% 
12. สีเมจิก 
13. นาฬิกาจับเวลา
14. เครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอท 
15. สนามกรีฑาขนาด 400 เมตร 
16. เบาะยิมนาสติก 10 เบาะ 
17. กระดาษกาว 
18. กล่องก้มงอตัว มีสเกลเป็นเซนติเมตร 
หูฟัง (Stethoscope)
19. หูฟัง (Stethoscope)

การเก็บรวบรวมข้อมูล
     ก่อนทำการทดสอบวัดไขมันใต้ผิวหนังผู้วิจัยได้หาความเชื่อมั่น โดยการฝึกวัดไขมันใต้ผิวหนังนิสิตปริญญาตรี 
วิชาเอกพลศึกษา 
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
จำนวน 118 คน
              
ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้
  
1. ผู้รับการทดสอบแต่งกายที่เหมาะสมพร้อมที่จะทดสอบเพื่อจะวัด 
    ไขมันใต้ผิวหนัง 
2. ให้ผู้ทดสอบนอนพักตามสบายบนเบาะยิมนาสติกเป็นเวลา 
    10  นาที 
3. หลังพัก จับชีพจรขณะพัก 1 นาที จดบันทึกไว้ 
4. วัดความดันโลหิตขณะพัก จดบันทึกไว้ 
5. ผู้รับการทดสอบชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง 
6. ผู้ช่วยวิจัยวัดส่วนรอบของร่างกายของผู้รับการทดสอบ 
7. เป่าเครื่องวัดความจุปอด เพื่อหาอากาศตกค้าง 
8. ผู้ช่วยวิจัยจะนำ ผู้ทดสอบ อบอุ่นร่างกายอวัยวะส่วนต่างๆของร่าง
เครื่องวัดความดันโลหิตแบบป
กายเพื่อพร้อมจะทดสอบเป็นเวลา 10 นาที 
9. ผู้ช่วยผู้วิจัยสาธิตวิธีการทดสอบลุกนั่งและให้ผู้ทดสอบปฏิบัติ 
10.  ผู้ช่วยผู้วิจัยสาธิตวิธีการทดสอบก้มงอตัวและให้ผู้ทดสอบปฏิบัติ 
11. ผู้รับการทดสอบใส่ชุดว่ายน้ำชั่งบนเครื่องชั่ง และบันทึกน้ำหนักไว้ 
12. วิ่ง-เดิน 1.5 ไมล์ (2400 เมตร) และบันทึกเวลา

         แบบทดสอบสุขสมรรถนะ ใช้แบบทอสอบวัดสุขสมรรถนะ (Health Related Fitness Test) ของสมาคมสุขศึกษาพลศึกษานันทนาการและการเต้นรำแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วยการวัดด้านต่างๆ 4 รายการดังนี้
  
1.วิ่งระยะทาง 1.5 ไมล์ 
2.การวัดส่วนประกอบของร่างกาย(Body composition) 
          2.1  วัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อแขน
                 ท่อนบนด้านล่าง 
          2.2  วัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อใต้ 
                 สะบักหลัง 
3. ลุก-นั่ง 1 นาที (Modified sit - up) 
4. นั่งงอตัวไปข้างหน้า (Sit and reach)

อภิปรายผล
         จากผลการวิจัยจะเห็นว่า
             ความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมัน กับสุขสมรรถนะของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมัธยมศึกษาตอนต้น มีความสัมพันธ์กันในเชิงลบ อย่างมีนัยสำคัญที่ .01 ชี้ให้เห็นว่านักเรียนชายและหญิง ยิ่งมีเปอร์เซ็นไขมันสูง สุขสมรรถนะโดยส่วนรวม 4 รายการยิ่งลดลงต่ำ ซึ่งผลรวมของสุขสมรรถนะทั้ง 4 รายการ เป็นปัจจัยที่สำคัญของการมีสุขภาพและการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในด้าน ความทนทานระบบไหลเวียน จากการวิ่ง-เดิน 1.5 ไมล์ ลุกนั่ง 1 นาที ซึ่งวัดความทนทานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผลรวมของไขมันใต้ผิวหนัง เป็นความเหมาะสมของไขมันในร่างกาย และการก้มงอตัวไปด้านหน้า วัดความอ่อนตัวและความยืดหยุ่นร่างกายดังนั้น เมื่อรายการใดรายการหนึ่งต่ำ หรือทุกรายการต่ำ นั่นคือสุขสมรรถนะรวมจึงถูกส่งผลออกมาในระดับต่ำ จากการที่มีเปอร์เซ็นไขมันสูงทั้งในนักเรียนชายและในนักเรียนหญิง เนื่องจากตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน